วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เชี่ยวหลาน เขาสก แพ500ไร่

     สายลมแห่งกาลเวลา..มักจะพัดผ่านไปเร็วเสมอ  เฉกเช่นสายฝนและลมหนาวที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปตามฤดูกาล แต่ทะว่ามันกลับทิ้งร่องรอยแห่งอดีตให้เราได้จดจำและนึกถึงทุกครั้งที่มันหวนกลับมาอีกครั้ง..
     เกือบครบหนึ่งปีแล้ว.. ที่ผมได้ไปเยือน เขื่อนรัชชประภา หรือที่ใครๆขนานนามว่า "กุ้ยหลินเมืองไทย"  ถึงจะผ่านไปเกือบปีแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า เชี่ยวหลาน ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเขื่อนรัชชประภา มันทำให้ผมหวนนึกถึงทะเลสาปขนาดใหญ่ที่ถูกโอบล้อมด้วยภูเขานับร้อยๆลูก ทอดตัวเรียงรายสุดลูกหูลูกตา เมฆหมอกสีขาวนวลลอยกระจายตามยอดเขา ท่ามกลางผืนน้ำที่สงบนิ่ง ดูสวยงามมีมนต์เสนห์น่าค้นหายิ่ง..                
                    
..............................................................................................................................
วันแรกของการเดินทาง

      นกยักษ์ค่ายหางแดงทะยานขึ้นจากสนามบินดอนเมืองมาได้เกือบชั่วโมงแล้ว คงเพราะเรามัวแต่เพลิดเพลินอยู่กับกลุ่มก้อนเมฆน้อยใหญ่ที่ลอยอยู่ทางปีกขวาของตัวเครื่อง และนั่งจินตนาการไปถึงรูปร่างของสัตว์ต่างๆนานาชนิดตามลักษณะของก้อนเมฆ มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงประกาศจากกัปตันเครื่องแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดเพื่อเตรียมนำเครื่องลงจอด มองลงไปข้างล่างเห็นบ้านเรือน ถนนหนทางและท้องทุ่งทอดตัวเรียงรายใต้ปีกนกยักษ์อยู่ลิบๆ คงใกล้ถึงจุดหมายปลายทางแล้วสินะ..


     ทริปนี้เราซื้อแพ็คเกจทัวร์กับ บริษัท สุราษฎร์อินเตอร์ทัวร์ จำกัด  ซึ่งรวมราคารถตู้มารับส่งถึงสนามบินด้วย(ต้องจ่ายเพิ่มจากแพ็คเกจ)  หลังจากกัปตันนำเครื่องแลนดิ้งลงจอดที่สนามบินสุราษฎร์ธานีแล้ว จึงมีรถตู้มาจอดคอยรับเราอยู่พร้อมแล้วโดยไม่ต้องรอให้เสียเวลา
 


 
 

      รถตู้พาเรามาแวะพักที่ออฟฟิตแพ 500ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือเขื่อนรัชชประภาประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ลูกทัวร์พักดื่มกาแฟ โอวัลติน และเข้าห้องน้ำ รวมถึงเคลียร์ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางต่อไปที่ท่าเรือเพื่อมุ่งสู่ที่พัก "แพ500ไร่"



     ก่อนถึงท่าเรือ เรามาแวะที่เขื่อนรัชชประภา เพื่อชมทัศนียภาพรอบๆตัวเขื่อน วันนี้ดูท้องฟ้าไม่ค่อยเป็นใจสักเท่าไหร่ ได้แต่หวังว่าจะไม่เจอสายฝนระหว่างทางที่นั่งเรือเข้าไปที่พัก
     ถึงท้องฟ้าจะไม่เป็นสีครามอย่างที่ตั้งใจหวัง แต่ทะสาปขนาดใหญ่และภูเขานับร้อยๆลูกที่ทอดตัวกระจายเรียงรายไกลออกไปสุดสายตาก็ทำให้เราตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้า ณ ขณะนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว


      เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร”
      เราแวะถ่ายรูปและชมวิวตรงสันเขื่อนพอประมาณก่อนออกเดินทางต่อไปที่ท่าเรือซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก 


   
    
     จากจุดชมวิวที่สัน เขื่อนรัชชประภา มาถึงท่าเรื่อใช้เวลาไม่ถึง10 นาที ระหว่างที่รอขึ้นเรือไปแพ500ไร่ ยังมีเวลาให้เราพักทานมื้อเช้าและเดินชมสินค้า-ของฝากที่ร้านค้าตรงท่าเรือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าโอท๊อปประจำท้องถิ่นและเสื้อยืดสกรีนที่มักเห็นตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วๆไป
    

     เรือยนต์ขนาดบรรทุกได้ 15 ที่นั่งวิ่งแหวกสายน้ำแตกกระจายเป็นฟองฝอย นำเราออกจากท่าเรือเขื่อนรัชชประภา มุ่งหน้าสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่สุดสายตา ทิ้งละลอกคลื่นที่กระเพื่อมขึ้นลงและวิ่งตามใว้เบื้องหลังอย่างไม่แยแสประหนึ่งคนไร้เยื่อใยต่อกัน..
     ตลอดเส้นทางที่เรือวิ่งผ่าน เราได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์และมนุษย์สร้างเสริม จนก่อกำเนิดเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย อันสวยงามตระการตาขึ้นมาให้เราได้ทัศนา ราวภาพนิรมิตรจากจิตกรเอกของโลก
     จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ภายใต้ความสวยงามที่ได้มาเหล่านี้ ต้องแลกมาด้วยภูเขานับร้อยๆลูกที่ต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำเพราะการสร้างเขื่อนกักน้ำเอาใว้ วิถีชีวิตสัตว์ป่าและชุมชนที่ถูกทำลาย เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกและผลิตกระแสไฟฟ้าให้ผู้คนนับล้านได้ใช้ประโยชน์ หากมนุษย์ผู้ได้ประโยชน์เหล่านั้นจะมองเห็นคุณค่าแห่งสายน้ำและกระแสไฟฟ้า แล้วใช้มันอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้นไม้และสัตว์ป่าที่เสียสละตัวเองจมอยู่ใต้ผืนน้ำแห่งนี้คงจะดีใจไม่น้อย..

      
      ใบพัดจากเครื่องยนต์เรือหางยาวขนาด6.5แรงม้า ตีน้ำแตกกระจายปลิวฟลุ้งมากระทบใบหน้าเราขณะที่นายท้ายถือหางเสือบังคับหัวเรือพาคณะทัวร์ลัดเลาะไปตามจุดชมวิวต่างๆ จนมาถึง เขาสามเกลอ
     “เขาสามเกลอ”  เป็นเอกลักษณ์ของเขื่อนรัชชประภาแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชชประภา จะต้องแวะเข้ามาชมและเก็บภาพเป็นที่ระลึก เพื่อบันทึกความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้มาเยือนดินแดนแห่งนี้  ดินแดนที่ได้รับขนานนามว่า “กุ้ยหลินเมืองไทย”  ด้วยทัศนียภาพที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาหินปูนที่สูงชันสลับซับซ้อน มวลไม้เขียวชะอุ่มปกคลุมพื้นที่ทิวเขาโดยรอบห้อมล้อมไปด้วยพื้นน้ำที่มีสีเขียวมรกต 

      
      เนื่องด้วยอนุภาพของเขาหินปูนโดยรอบที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุต่างๆ ละลายลงในน้ำ แร่ธาตุต่างๆ นี้ดึงเอาตะกอนสกปรกตกไปยังพื้นใต้น้ำ  แพลนตอนที่เป็นตัวทำลายน้ำทำให้น้ำเสียไม่สามารถเจริญเติบโตมากจนเกินไป จะมีก็แต่ตะไคร่น้ำที่อยู่เบื้องล่าง  และแพลนตอนที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำ ทำให้น้ำในบริเวณเขื่อนมีความใสบริสุทธิ์ ด้วยความลึกเฉลี่ยกว่า 70 เมตร เมื่อแสงอาทิตย์ส่องลงมาเกิดการดูดกลื่นแสง ตามธรรมชาติ และสีของแสงที่สะท้อนขึ้นมาทำให้เรามองเห็นว่าน้ำมีสีเขียวมรกตปนฟ้า ราวกับน้ำทะเลเหมือนกับ ”เมืองกุ้ยหลิน” ในประเทศจีน


(ที่มาภาพมุมสูง : จากหน้าเวปแพ500ไร่)

       ออกจากเขาสามเกลอ มาไม่นานเราก็มาถึงที่พัก แพ500ไร่  เป็นแพเรือนไม้ประมาณ12หลัง ลอยตัวแบบหน้ากระดานเรียงหนึ่งห่างจากแนวชายฝั่งออกมาไม่ไกลนัก ด้านหลังเป็นแนวเขาปกคลุมด้วยต้นไม่สีเขียวขจี


     
      นื่องจากแพ500ไร่ เน้นกลุ่มลูกค้าที่รักความสงบ ชอบความเป็นส่วนตัวและรักธรรมชาติเป็นสำคัญ จึงทำให้ห้องพักที่นี่ไม่มีทีวี ตู้เย็น สัญญาณมือถือ ส่วนสัญญาณอินเตอร์เนตหรือ WiFi นั้นไม่ต้องพูดถึง (บอดสนิท) ไฟฟ้าที่นี่มีจำกัด เปิดปิดเป็นเวลา ใครที่คิดจะมาพัก แพ500ไร่ ต้องทำใจตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วขณะนะครับ..
      เวลาให้บริการห้องพัก  : Check In 13.30 น.Check Out 10.30 น.
      เวลาเปิด-ปิดไฟฟ้า
:  ร้านอาหาร 24 ชม. / ห้องพัก 17.
00-09.00 น. / เฉพาะแอร์18.00-4.00 น.


     ภายในห้องพักตกแต่งแบบเรียบง่าย เน้นความกลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ ..บ้านที่เราพักมี2ชั้น นอนได้ 4-5 คน มีห้องน้ำในตัว ถือว่าสะดวกสบายพอสมควร


 
      ด้านหน้าห้องพักมีแพไม้ไผ่สำหรับขึ้น-ลง เวลาเล่นน้ำ ห้องพักแต่ละหลังจะมีเรือคายัคผูกเอาใว้ให้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางแพ500ไร่ จัดใว้สำหรับผู้มาพักให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เล่นน้ำ หรือพายเรือคายัคชมวิวรอบๆที่พัก เพราะไม่อยากให้ผู้มาพักต่างคนต่างนั่งจิ้มโทรศัพท์มือถือตัวเอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ที่นี่ไม่มีสัญญาณมือถือ


     หลังจากเก็บของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว เราถือโอกาสเอนหลังพักเหนื่อยเอาแรงสักงีบ ก่อนที่เรือจะมารับไปชมวิวที่ "จุดชมวิวเขาไกรสร" ตอนบ่าย4โมงตามกำหนดการของวันนี้

    ท้องฟ้ายามบ่ายยังคงอึมครึมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มก้อนเมฆสีควันบุหรี่แผ่กระจายปกคลุมยึดครองเกือบทั่วน่านฟ้า เรือยนต์หางยาวพาเราวิ่งผ่ากระแสน้ำมาจอดเทียบท่าตรงทางขึ้นเขาไกรสร  มองเห็นป้ายบอกทาง "จุดชมวิวไกรสร 1.5 กม."


     ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่าแค่ระยะทาง 1.5 กิโลเอง คงเดินสบายๆชิวๆ ขึ้นไปนั่งรับลมชิมวิวแล้วก็เดินกลับลงมาแบบเบิร์ดๆ แต่ที่ไหนได้ ระยะแค่นี้แหละที่เล่นเอาบางคนถอดใจเกือบไปไม่ถึงจุดชมวิว
     "เดินสบายๆ ไม่ไกลมากหรอกค่ะ ทางไม่ลำบาก นู๋เดินประจำ"  น้องปุ๊กกี้ ไกด์ประจำคณะผู้พาเราบุกป่าผ่าดงขึ้นไปบนยอดเขาไกรสรอธิบายระหว่างเดินลัดเลาะไปตามไหล่ทางแคบๆขึ้นสู่เขาไกรสร
     แต่พอเดินมาได้สักครึ่งชั่วโมง กระทั่งขวดน้ำที่ติดตัวมาแค่ขวดเดียว ผมแทบอยากจะเททิ้งให้หมด  กล้องที่อุตสาห์แบกมา กะว่าจะเก็บภาพบรรยากาศระหว่างทางก็แทบไม่มีแรงกดซัตเตอร์  กว่าจะรู้ตัวว่าถูกปุ๊กกี้หลอกเข้าให้แล้ว ก็ต่อเมื่อหันไปเห็น "น้องจ๊อย" เพื่อนร่วมทริปของเรา นั่งทอดอาลัยลงข้างโขดหินพ่นลมหายใจเข้าออกทางปากราวกับปืนกลอัตโนมัติ  เห็นสภาพแล้วประหนึ่งว่าชาตินี้เธอจะไม่ขยับร่างกายอันบอบบางนี้ไปที่ไหนอีกแล้ว..
        

      หนทางยิ่งสูงยิ่งชัน โดยเฉพาะระยะ10เมตรสุดท้าย ซึ่งระเกะระกะไปด้วยหินปูนแหลมคมแทบทั้งนั้น ถ้าพลาดพลั้งลื่นไถลลงมาก็มีสิทธิ์เสียเลือดเป็นแน่แท้  กว่าจะกระชากลากดึงและดันกันขึ้นมาได้ก็เล่นเอาหมดแรงไปตามๆกัน 
      รางวัลจากความเหน็ดเหนื่อยของเรา คือภาพผืนน้ำเว้าแหว่งที่ทอดตัวสงบนิ่งอยู่เบื้องล่าง ตามรูปร่างของแนวเขาที่ยื่นออกไปในทะสาปสีเขียวมรกรต  สายลมเย็นจากยอดเขาพัดไล่ความเปียกชื้นจากเหงื่อที่ไหลท่วมตัวไปจนหมด 
     เรานั่งดื่มด่ำซึมซับเอาความสวยงามที่ธรรมชาติมอบให้อยู่พักใหญ่ ให้สมกับความเหนื่อยยากที่ปีนป่ายขึ้นมา ก่อนที่จะอำลาจาก จุดชมวิวเขาไกรสร กลับที่พักด้วยความอ่อนล้า ระหว่างนั่งเรือกลับสายฝนเริ่มโปรยปราย ถึงกระนั้นผมยังแอบเห็นหลายคนเผลอหลับไปท่ามกลางสายฝนชุ่มฉ่ำ คงเพราะความเหนื่อยล้าจากการปีนเขา บางคนมีเลือดไหลซิบได้แผลจากคมเคี้ยวของตัวทาก ระหว่างเดินเขากลับไปเป็นที่ระลึกอีกด้วย ..



      ดวงอาทิตย์กำลังจะลับหายไปจากแนวป่าด้านหลัง ขณะที่เรากลับมาถึงที่พัก สายฝนยังคงโปรยปรายไม่ยอมหยุด แต่ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังลงเล่นน้ำหน้าห้องพักอย่างสนุกสนานท่ามกลางสายฝนพรำ
 

       เราทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารของแพ500 จัดใว้ให้ ซึ่งอาหารทุกมื้อของทริปนี้รวมอยู่ในแพ็คเกจทัวร์
เรียบร้อยแล้ว เลยไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารการกิน อาหารทุกมื้อส่วนมากจะเป็นอาหารไทยสลับเมนูพื้นบ้านรสชาติจัดจ้านตามแบบฉบับชาวใต้ เรียกว่าอิ่มอร่อยท้องกันทุกมื้อเลยทีเดียว (เสียดายที่ห่วงกินจนลืมเก็บภาพอาหารใว้อ่ะ )
      หลังมื้อเย็นสิ้นสุดลง เรากลับมาห้องพักด้วยความอ่อนล้าเพราะหนังตาเริ่มจะปิด คงเพราะความเหนื่อยล้าจากการเดินทางในวันแรก บวกกับการเดินขึ้นเขาไกสรที่สูงชัน ทำให้ทุกคนต้องหลับเร็วกว่าปกติ เพื่อพักเอาแรงไว้เที่ยวต่อในวันพรุ่งนี้

............................................................................................................................

วันที่2ของการเดินทาง



       เช้าวันใหม่บนสายน้ำอันเงียบสงบ ดวงตะวันพยายามสองแสงผ่านแนวม่านเมฆที่แผ่ปกคลุมน่านฟ้าเบื้องบูรพา แต่ก็เล็ดลอดมาได้เพียงน้อยนิด ท้องฟ้าวันนี้จึงดูอึมครึมไม่มีแสงเงินแสงทองโผล่พ้นของฟ้ามาพร้อมดวงตะวันอย่างที่ตั้งใจหวัง

                    แสงตะวันเร้นหายไม่ไลน์บอก
                ทิ้งสายหมอกให้เดียวดายที่ปลายเขา 
               สายลมโชยพัดแว่วแผ่วๆเบา
               อยู่คลอเคล้าคอยกดไลท์ให้หายตรม
    



    เรือหางยาวมาจอดเทียบท่าแต่เช้าตามนัดหมาย เพราะเช้านี้เราจะต้องล่องเรือไปดูนก ชมหมอกยามเช้า ตามกำหนดการของทริปที่จัดเอาใว้



       สายลมยามเช้าพัดหอบเอาละอองเย็นยะเยือกของสายน้ำทางหัวเรือแตกกระจายเป็นฟองฝอย ยามที่เรือหางยาววิ่งแหวกไปข้างหน้า จนคนที่นั่งอยู่หน้าสุดของหัวเรืออย่างผมต้องหันหลังให้เพื่อลดแรงลมที่ปะทะใบหน้า
     ภูเขานับร้อยที่เรียงรายโอบล้อมสายน้ำซึ่งลึกกว่า70เมตร โผล่ให้เห็นเพียงยอดเขียวขจี ที่ประดับด้วยหมู่แมกไม้นานาพันธ์ สายหมอกสีขาวนวลยังคงลอยฟลุ้งกระจายไปตามหุบเหวและยอดเขาสูงชัน


     เรือยนต์หางยาวพาเราลัดเลาะไปตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ ที่คาดว่าจะมีนกออกมาหาอาหารและรับแสงอรุณยามเช้า คงเพราะเช้าวันนี้ท้องฟ้ามืดครึ้มแสงแดดไม่ส่อง จึงไม่ค่อยเห็นนกหายากออกมาบินอวดโฉมให้เราได้ทัศนาอย่างที่น้องปุ๊กกี้ ไกด์สาวจากที่ดินแดนราบสูงคุยให้ฟังก่อนมา



      แต่ไม่ว่าฝนจะตก หรือแดดจะออก มีนกหรือไม่มี แค่การที่เราได้มาสัมผัสธรรมชาติในดินแดนอันสวยงามเช่นนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว เพราะหากรักจะเดินทางท่องเที่ยวแล้ว อย่าได้วาดหวังว่าทุกอย่างจะสวยงามสมบูรณ์แบบตามแผนที่วางใว้เสมอไป ต้องฝึกปรับตัวปรับใจยอมรับในสิ่งที่พบเจอตามสถานการณ์ที่มันเป็น เพราะจะได้ไม่ทุกข์ใจในยามที่ทุกสิ่งอย่างไม่เป็นไปตามที่เราหวัง
      

     เกือบ2ชั่วโมงที่เราล่องเรือชมวิวทิวทัศน์กลางสายน้ำ"เชี่ยวหลาน" แห่งนี้ แม้ได้พบเจอนกบ้างแต่ไม่มากอย่างที่คิด คงเพราะไม่มีแสงแดดอุ่นส่องลงมาล่อให้นกออกหากิน หรือไม่ก็เพราะเสียงดังจากเครื่องยนต์ของเรือหางยาวทำให้มันตกไปไม่กล้าออกมาให้เราชม
     จนจวนได้เวลาอาหารมื้อเช้า นายท้ายหนุ่มผิวเข้มผู้ถือหางเสือจึงได้หันหัวเรือพาเรากลับที่พักก่อนที่พยาธิในกระเพาะจะออกมาประท้วงกัน




     หลังมื้อเช้าวันนี้..ตามกำหนดการแล้วเราจะต้องไปชมน้ำตกแปดเซียน แต่ด้วยสภาพของชาวคณะในกลุ่มส่วนใหญ่ ต่างเข็ดขยาดจากการเดินเขาไกสรมาเมื่อวานนี้จึงโบกมือบ๋ายบาย รอไปนั่งเรือส่องสัตว์ตอนเย็นทีเดียวเลย เมื่อเป็นมติเสียงส่วนใหญ่เราก็เลยต้องตามน้ำ ดีเหมือนกันจะได้มีเวลาพักผ่อนและเล่นน้ำอยู่ที่พักให้เต็มที่ ได้นั่งทอดอารมณ์ผ่านผืนน้ำมหานทีอันกว้างใหญ่แห่งเชี่ยวหลาน เพื่อซึมซับเอาธรรมชาติบริสุทธิ์สวยงามซึ่งหาซื้อไม่ได้ในเมืองใหญ่ที่เราจากมา..


      ระหว่างที่เพื่อนๆลงเล่นน้ำ ผมเหลียบมองไปเห็นแพที่อยู่ข้างๆแล้วอดอิจฉาไม่ได้ สงสัยคู่นี้เขาจะมาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กัน (ดูจากท่าทาง ตาเริ่มจะบ่นแล้วเพราะยายมัวแต่ดื่มย้อมใจนานไปหน่อย..55)


    เมื่อเล่นน้ำจนหนำใจแล้ว เราจึงเปลี่ยนมาพายเรือคายัคออกไปชมวิวทิวทัศน์รอบๆที่พักกัน บ้างก็แข่งกันพาย บางคนเพิ่งเคยพายเป็นครั้งแรกในชีวิต กว่าจะออกจากฝั่งได้ ก็เล่นเอาหมุนเป็นวงกลมอยู่หลายรอบ แต่พอรู้ทิศทางรู้วิธีบังคับแล้วก็พายแข่งกันอย่างสนุกสนาน



     จวนสี่โมงเย็น ถึงเวลาล่องเรือชมสัตว์ป่าที่ต้นน้ำคลองแสง ซึ่ง "ปุ๊กกี้ " ไกด์สาวสวยประจำคณะของเราบอกว่า "ถ้าโชคดีพวกพี่อาจจะได้เห็นกระทิงลงมากินน้ำ แต่ถ้าโชคไม่ดีพวกพี่คงได้เห็นกระทิงแดงแทน.."


    

     บรรยากาศยามเย็นของเชี่ยวหลาน ดูสวยงามมีมนต์เสนห์ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการล่องเรือลัดเลาะไปตามเกาะแก่งต่างๆเพื่อส่องสัตว์ นับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับเรา เพราะปกติเคยแต่นั่งรถไปส่องสัตว์ตอนกลางคืน

   
 
     คนขับเรือเล่าว่าปกติถ้าเป็นหน้าแล้ง สัตว์ป่าจะลงมาหาอาหารมากกว่านี้ แต่เพราะเป็นหน้าฝนน้ำท่วมสูงจึงไม่ค่อยเห็นกระทิง เก้ง กวาง หรือควายป่า อย่างที่ปุ๊กกี้คุยให้เราฟัง สงสัยคงได้กลับไปดูกระแดงในตู้แช่แทนแล้วล่ะ


 

   
      ดวงตะวันจวนจะลับขอบฟ้า เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ารัตติกาลกำลังคืบคลานเข้ามาเยือน แสงสีทองส่องประกายอยู่รำไรที่ปลายฟ้าทางทิศตะวันตก สะท้อนผืนน้ำเป็นเงาสีหมากสุกดูสวยงามแปลกตาน่ามอง  สกุนาเจื้อยแจ้วบินกลับรังร้องเรียกหากันระงมป่าอยู่พักใหญ่ ก่อนที่ทุกอย่างจะเงียบเสียงลงพร้อมกับแสงสุดท้ายที่หายไปจากเส้นขอบฟ้า

 

     เราหันหัวเรือกลับที่พักท่ามกลางความมืดมิดแห่งรัตติกาล ยังโชคดีที่บนเรือมีไฟฉายติดมาด้วย แต่ถึงกระนั้นก็อดเสียวไม่ได้ว่าเรือจะไปชนเข้ากับตอไม้ที่อยู่ใต้น้ำหรือไม่ อาศัยประสบการณ์ของคนขับเรือที่เป็นคนในพื้นที่และขับพานักท่องเที่ยวมาส่องสัตว์แถวนี้เป็นประจำ จึงชำนาญเส้นทางและพาเรากลับที่พักได้โดยสวัสดิภาพ




  
     หลังมื้อเย็น.. เรากลับมานั่งรับลมชมวิวหน้าที่พัก เก็บบันทึกความทรงจำของคืนวันสุดท้ายบนแพ500ไร่ก่อนที่จะอำลาจากไปในวันพรุ่งนี้
     แสงไฟจากโป๊ะด้านหน้า ส่องสะท้อนผิวน้ำราบเรียบนิ่งสงบราวภาพสะท้อนในกระจกเงา รอบบริเวณแพมืดสนิท เสียงเฮฮาของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ดังมาจากร้านอาหารตั้งแต่ตอนหัวค่ำเงียบลง เหลือเพียงเสียงร้องของแมลงป่าจากด้านหลังที่พักแว่วมาเป็นระยะ ผมนั่งมองเงาทะมึนของขุนเขาที่เรียงตัวโอบล้อมสายน้ำอยู่เบื้องหน้าจินตนาการถึงสิ่งลี้ลับใต้สายน้ำและในหุบเหวของภูเขา จนเผลอหลับไปบนเก้าอี้หน้าระเบียง..

............................................................................................................................

วันที่3ของการเดินทาง


     สายลมเย็นยามเช้าปลุกผมตื่นจากเก้าอี้หน้าระเบียงขึ้นมารอรับอรุณแห่งวันใหม่ วันนี้ท้องฟ้าดูสดใสกว่าทุกวันที่ผ่านมา แสงสีทองกำลังส่องทาบทาขอบฟ้าเบื้องบูรพา หมอกสีขาวนวลลอยฟุ้งกระจายรายล้อมยอดเขาที่ตั้งตระหง่านเรียงรายอยู่ไกลลิบ

                 ดวงตะวันสีทองส่องแสงอุ่น
               แดดละมุนกรุ่นละไมไอระเหย
              เมฆสีนวลยวนเย้าเฝ้าชิดเชย
              ลมลำเพยพัดถามไถ่ห่วงใยกัน



     เสียงเครื่องยนต์จากเรือหางยาวแว่วดังมาแต่ไกล ก่อนที่ลำเรือจะตีโค้งมุ่งหน้าตรงไปยังท่าเทียบเรือ ของแพ500ไร่ ทิ้งสายน้ำสีเงินยวงเป็นเส้นยาวคดเคี้ยวคล้ายอนาคอนด้ายักษ์วิ่งไล่ตามอยู่เบื้องหลัง


     เมื่อเรือวิ่งใกล้เข้ามาจึงรู้ว่าเป็นเรือของแพ500ไร่ ที่บรรทุกลูกเรือซึ่งเป็นพนักงานของแพ เพื่อมาจัดเตรียมอาหารมื้อเช้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังหลับไหลอยู่บนเตียงนอนอย่างแสนสุข
     สำหรับผมแล้ว "ตื่นก่อน นอนทีหลัง" เป็นสโลแกนประจำตัวเสมอเวลาที่ออกต่างจังหวัด เพราะนานทีกว่าจะมีโอกาสออกมาสัมผัสธรรมชาติสวยงามเช่นนี้ จะต้องใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่าด้วยการตื่นแต่เช้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ และดื่มด่ำบรรยากาศรอบตัวให้เต็มอิ่ม


      การตื่นแต่เช้าจึงเป็นนิสัยที่ติดตัวผมมาแต่ไหนแต่ไร เพราะมันทำให้ผมได้มองเห็นภาพวิถีชีวิตยามเช้าของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นที่เดินทาง ทั้งยังได้เฝ้าดูแสงแรกแห่งวันที่ค่อยๆโผล่ขึ้นมาแต่งแต้มขอบฟ้าให้เป็นสีเงินสีทองอย่างสวยงาม ได้เห็นก้อนเมฆรูปร่างแปลกตาเรียงรายรอรับแสงอรุณยามเช้า ได้เห็นฝูงนกส่งเสียงเจื้อยแจ้วบินออกจากรังมุ่งหน้าสู่แนวป่าอันไกลโพ้น..  ภาพแห่งชีวิตที่สวยงามเหล่านี้..ได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองผ่านช่วงระยะเวลาสั้นๆที่คนตื่นสายหลายๆคน จะไม่มีวันได้สัมผัสเช่นคนที่ตื่นเช้าอย่างเรา ..

            
 

      ตะวันโผล่พ้นแนวเขาไปนานแล้ว แสงแดดอบอุ่นเริ่มแผดแสงแรงกล้าขึ้น หลังทำภารกิจส่วนตัวกันเรียบร้อยแล้ว เราเก็บสัมภาระออกมารวมใว้ที่ร้านอาหารเพื่อเช็คเอาท์และนั่งทานมื้อเช้าไปพร้อมกับรอเรือที่จะมารับกลับเข้าสู่ฝั่ง
     ผมใช้เวลาระหว่างนี้เดินเก็บภาพบรรยากาศรอบๆแพ และนั่งเฝ้ามองดูท่วงทำนองแห่งชีวิตของผู้คนบนสายน้ำที่กำลังเริงระบำตามจังหวะกระแสของเชี่ยวหลานที่กระเพื่อมไหวไปตามกาลเวลาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด



     หลังอาหารเช้ามื้อสุดท้านบนแพ500ไร่สิ้นสุดลง  ก็ได้เวลาที่เราต้องโบกมือลาสายน้ำสีฟ้าครามสดใส บอกลาผืนป่าสีเขียวขจีที่ทอดตัวอยู่ด้านหลัง บอกลาเรือแคนูสีขาวแดงที่เคยพายล่องไปบนสายน้ำ มิตรภาพอันสวยงามที่ได้รับจากธรรมชาติและผู้คนที่นี่แม้จะเพียงชั่วข้ามคืนแต่ก็หยั่งรากลึกลงในความทรงจำของเราไปอีกนานแสนนาน

   
      เงาสะท้อนผิวน้ำของแนวป่าและเรือนแพดูสวยงามกว่าทุกวันที่ผ่านมา คงเพราะวันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆบดบัง ระหว่างที่เรานั่งเรือออกมาจากแพ500ไร่ ผมอดหันกลับไปมองอีกครั้งไม่ได้  ผมไม่ได้มองเพราะแค่จะจดจำหรืออำลา หากแต่มองเพื่อส่งรอยยิ้มและกระซิบบอกผืนน้ำแห่งนี้ว่าสักวันผมจะกลับมาเยือนอีกครั้ง..
      

     หากสายน้ำเหมือนกาลเวลา คงเหมือนกันตรงที่สายน้ำและกาลเวลาไม่เคยหวนกลับ แต่สำหรับสายน้ำแห่งเชี่ยวหลานแล้ว มักจะซักพาให้ผู้คนที่ได้สัมผัสและหลงมนต์เสน่ห์ให้หวนกลับมาที่นี่อีกครั้ง  ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมีเรารวมอยู่ด้วย



      ระหว่างเดินทางกลับ เราต่างเพลิดเพลินกับการนั่งมองสายหมอกสีขาวนวลที่พริ้วตัวล่องลอยคลอเคล้าอยู่ตามยอดเขาประหนึ่งคนรักที่กำลังออดอ้อนออเซาะกัน ปล่อยให้ดวงตะวันที่ลอยสูงโด่งขึ้นไปได้แต่ส่องแสงมองลงมาอย่างอิจฉา คงเพราะวันก่อนนี้ที่แสงตะวันหายไปแล้วไม่ยอมบอก เลยทำให้สายหมอกน้อยใจกระมัง จึงแกล้งตีตัวออกห่างหันไปคลอเคล้ากับยอดเขาและสายลมแทน..
       
          ดวงตะวันเร้นหายไม่ไลน์บอก
      ทิ้งสายหมอกให้เดียวดายที่ปลายเขา
     สายลมโชยพัดแว่วแผ่วๆเบา
     อยู่คลอเคล้าคอยกดไลท์ให้หายตรม..




     เราใช้เวลาเกือบ2ชั่วโมงกว่าจะมาถึงท่าเรือเขื่อนรัชชประภา เพราะเรือที่นั่งมาเกิดเสียระหว่างทาง จึงต้องลอยลำเคว้งคว้างกลางเชี่ยวหลาน ชมวิวทิวทัศน์รอเรือลำใหม่มารับ ซึ่งก็กินเวลาไปเกือบชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค์แต่ประการใดเพราะเที่ยวบินขากลับที่เราจองใว้ออกเกือบ3ทุ่ม ยังมีเวลาให้เที่ยวอีกเยอะ ..


     งานเลี้ยงยังมีวันเลิกลา การเดินทางไม่ว่าจะยาวไกลเพียงใดย่อมมีวันสิ้นสุดลงเช่นกัน

     สำหรับทริปเชี่ยวหลาน เขาสก แพ500ไร่ คงได้เวลาคืนสู่ฝั่ง กลับไปสู่วิถีชีวิตการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริงที่แม้จะน่าเบื่อสักเพียงใดแต่ก็ต้องทำใจอยู่กับมัน(เหมือนคนที่แต่งงานประมาณนั้น..)  หวังว่าเส้นทางแห่งทริป เชี่ยวหลาน เขาสก แพ500ไร่ ตลอด3วัน2คืนนี้ คงพอเป็นไกด์ไลน์ให้กับเพื่อนๆที่ยังไม่เคยมาเยือนเชี่ยวหลานได้บ้าง  และช่วยกระตุ้นต่อมกระหายอยากของนักเดินทางผู้ชอบแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆให้กับชีวิตป็นอีกหนึ่งสถานที่ปักหมุดแห่งจุดหมายปลายทาง


     ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ฤดูกาล สายน้ำแห่งเชี่ยวหลานก็ยังคงไหลเรื่อยไปตามวิถีของมันอย่างไม่หยุดนิ่ง เป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพสัตว์ ท่ามกลางกระแสคลื่นที่สงบนิ่งสวยงาม และเฝ้ารอการมาเยือนของผู้คนอยู่เสมอ....
    


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลเพิ่มเติม

 การเดินทาง & แผนที่ เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน
    



เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ไปจนถึงจังหวัดชุมพร จากนั้นตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 41 จนถึง อ.พุนพิน ตรงสี่แยก ที่สามารถเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ ไม่ต้องเข้าตัวจังหวัด ให้ตรงไปเรื่อยๆ จนถึงแยก ท่าโรงช้าง ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จากนั้นประมาณ 40 กม. ก่อนจะถึง ตัว อ.บ้านตาขุน จะมีป้ายใหญ่ ของเขื่อนรัชชะประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ทางขวามือ

จากภูเก็ต ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ผ่านสะพานสารสิน เข้าเขตบ้านท่านุ่น เข้าสามแยกบ้านต้นแซะไปทางขวาเข้าถนนบายพาสตรงไปพังงา หรือไม่ต้องผ่านสามแยกต้นแซะ แต่เข้าเลนซ้ายตลอด ผ่านตลาดโคกกลอยตรงไปพังงา ตรงไปจากพังงาถึงทับปุด เข้าทางหลวงหมายเลข 415 ถึง อ.ทับปุด เจอสามแยก เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมาย 4 ตรงไปประมาณ 10 กม. จะพบสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหลายเลข 415 ประมาณ 50 กม. (เขาต่อ) เมื่อถึงสามแยกที่บ้านพังกวนเหลือ ให้เลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 401 เมื่อผ่าน อ.บ้านตาขุน แล้วจะมีป้ายใหญ่ ของเขื่อนรัชชะประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ทางซ้ายมือ

***ต้องการนอนแพ และนำรถมาด้วย สามารถจอดรถไว้ได้ที่ท่าเรือ โดยมีเจ้าหน้าที่ของท่าเรือดูแลอยู่ตลอดทั้งคืน

รถโดยสารประจำทาง

  • จากกรุงเทพ กรุงเทพ-พังงา หรือ กรุงเทพ-ภูเก็ต แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าลง ปากทางเข้าเขื่อนรัชชะประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ตรง อ.บ้านตาขุน จากสถานีขนส่งสายใต้ มีรถโดยสารประจำทาง เดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง
  • จากปากทางเข้าเขื่อน บริเวณ อ.บ้านตาขุน สามารถเรียก มอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาส่งในเขื่อนได้ ราคา 130 บาท/คน หากมากันหลายคน ต้องลองติดต่อหารถปิคอัพหรือสองแถวที่อยู่แถวนั้น ให้ไปส่งได้ แต่อาจจะหารถยากซักหน่อย หรือ รอรถตู้ที่วิ่งจาก อ.เมืองสุราษฯ เข้าไปตลาดนัดหมู่บ้านการไฟฟ้าฯในเขื่อน จะมาทุกๆ 1 ชั่วโมง

    เนื่องจากเวลาที่เดินทางมาถึงเป็นช่วงเช้ามืด ถ้ามาทางรถทัวร์ ประมาณ ตี 5-6 โมงเช้า วิธีที่ดีที่สุดคือ ติดต่อผู้บริการเรือหางยาว ไว้ตั้งแต่แรก ให้เอารถมารับจากปากทาง ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ก่อน ติดต่อ คุณโอ 08-6593-3440 จะเป็นรถกระบะมีแค๊ป หรือ แบบอื่นๆ บริการรับส่ง ไม่กำหนดเวลา เรียกใช้บริการได้ตลอดเวลา หากต้องการให้ไปรับที่ปากทางเข้าเขื่อน โดยมาเพียง 1-3 คน จะคิดราคาคนละ 150 บาท/คน แต่หากมาตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป คิดราคาเหมา เที่ยวละ 500 บาท นอกเหนือเส้นทาง ก็สามารถบริการได้ โดยโทรมาแจ้งเส้นทางไว้ก่อน

  • อีกเส้นทางจากกรุงเทพ กรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี ลงรถทัวร์ที่ สถานีขนส่งสุราษฎร์ธานีแล้ว ต่อรถ 2 แถว ไปตลาดเกษตร 2 เพื่อไปขึ้น รถตู้ สุราษฎร์ฯ - เขื่อน ราคา 150 บาท รถออกทุก 1 ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางถึงเขื่อน 1 ชั่วโมง
    จากบ้านดอน (บ้านดอน คือชื่อ อ.เมืองสุราษฯ) เที่ยวแรก 7.00 น. เที่ยวสุดท้าย 18.00 น.
    จากเขื่อน เที่ยวแรก 6.30 น. เที่ยวสุดท้าย 16.30 น.

    ตลาดเขื่อนคือตลาดนัด ในบ้านพักการไฟฟ้า ของเขื่อนเชี่ยวหลาน ถ้าหากจะให้ไปส่งที่ท่าเรือ ให้บอกรถตู้ไว้ตั้งแต่นั่นเนิน (อาจจะมีคิดราคาเพิ่มเล็กน้อย)
    *** อย่าหลงไปนั่งรถตู้ภูเก็ต เขาจะคิด 200 บาท และลงได้แค่ปากทางเข้าเขื่อนเชี่ยวหลาน 

การเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี

    การเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี (สนามบิน,สถานีรถไฟ,สถานีขนส่งสุราษฎร์) มายังท่าเทียบเรือเขื่อนเชี่ยวหลาน,ภูผาและลำธารรีสอร์ท โดยใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง ซึ่งจะออกจากต้นสายทุกๆ 1 ชม. ซึ่งสามารถโทรแจ้งสถานที่รับ จำนวนท่าน และจุดหมายปลายทางที่จะลง

เบอร์โทรรถตู้ประจำเส้นทางต่างๆ มีดังนี้
  • รถตู้สายสุราษฎร์-เขื่อนรัชชประภา โทร.077-212514
  • รถตู้สายเขื่อนรัชชประภา-สุราษฎร์ โทร.077-346088
  • รถตู้สายสุราษฎร์-เขาสก โทร.077-206217

การขึ้นรถทัวร์กลับ
หากไม่ได้จองมาตั้งแต่แรก ก็สามารถมาติดต่อ สำนักงานตัวแทนขายตั๋ว ใน อ.บ้านตาขุน เป็นสำนักงานตัวแทน
  • ตัวแทนของ บริษัทภูเก็ตเซ็นทรัล
    สนง.ตัวแทนบ้านตาขุน โทร.077 – 397050
    ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เย็น 18.20 น. วันละ 1 เที่ยว

  • ตัวแทนของ บริษัทลิกไนท์ทัวร์
    สนง.ตัวแทนบ้านตาขุน โทร.077 – 261169
    พังงา-กรุงเทพฯ เย็น 18.00 น. วันละ 1 เที่ยว
    รถแอร์ธรรมดา ป.1 38 ที่นั่ง
** แต่วิธีที่ดีที่สุด สำหรับการเดินทางกลับ ด้วยรถทัวร์ คือ ควรจองรถเที่ยวกลับมาตั้งแต่ก่อนมา โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ตอนซื้อตั๋วว่า จะขึ้นรถที่ อ.บ้านตาขุน เพราะหากซื้อตั๋วที่ สนง.ตัวแทนขายตั๋วที่ อ.บ้านตาขุน จะสามารถจองที่นั่งของรถทัวร์ประเภท ป.1 36 ที่นั่งได้เท่านั้น จะไม่สามารถจองตั๋วรถ VIP 24 ที่นั่งได้ ซึ่งต้องจองที่ สำนักงานของบริษัทรถทัวร์นั้นๆเท่านั้น

ทางเครื่องบิน

สามารถมาลงยัง สนามบินใกล้เคียงได้ 3 สนามบิน สุราษฎร์ธานี, กระบี่, ภูเก็ต จากระยะทางระหว่างสนามบินสุราษฎร์ธานีกับเขื่อนเชี่ยวหลานจะใกล้กันมากที่สุด รองลงมาเป็นสนามบินกระบี่ และสนามบินภูเก็ตไกลสุด

สนามบินสุราษฎร์ธานี
ระยะห่างเขื่อนประมาณ 65km มีจำนวนเที่ยวบินปานกลาง การเดินทางต่อไปเขื่อน มีให้เลือกน้อย

สนามบินกระบี่
ระยะห่างเขื่อนประมาณ 140km มีจำนวนเที่ยวบินปานกลาง การเดินทางต่อไปเขื่อน มีให้เลือกน้อย

สนามบินภูเก็ต
ระยะห่างเขื่อนประมาณ 160km มีเที่ยวบิน หลายเที่ยวบิน ตลอดทั้งวัน การเดินทางต่อไปเขื่อน มีให้เลือกมากมาย

หากมาลงสนามบินสุราษฎร์ฯ
  • สามารถต่อรถโดยสาร ระหว่างจังหวัดที่ผ่านหน้าสนามบิน มาทางหน้าทางเข้าเขื่อนอีกที เช่น รถประจำทาง ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต-ชุมพร เป็นต้น
  • จ้าง taxi ที่สนามบินมาส่ง
  • ติดต่อบริษัท พันทิพย์ ที่ให้บริการรถบัส ที่เค้าเตอร์ของบริษัทพันทิพย์ ในสนามบินเพื่อมายังปากทางเข้าเขื่อนได้

ทางรถไฟ

ตารางเวลาเดินรถ และการจองตั๋วรถไฟ สอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020, 0 2220 4334 หรือ www.railway.co.th

การเดินทางโดยรถไฟต้องไปลงที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี (อยู่ที่อำเภอพุนพิน) แล้วต่อรถประจำทาง หรือรถทัวร์ของบริษัทท่องเที่ยว ไปจังหวัดภูเก็ต หรือ พังงา เพื่อมาลงตรงหน้าปากทางเข้าเขื่อน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

รถประจำทาง ที่ผ่านสถานีรถไฟ เที่ยวแรก 6.30น และมีมาทุกๆชั่วโมง รถบัส สีส้ม เส้นทาง สุราษฎร์-ตะกั่วป่า-ภูเก็ต ค่าโดยสาร 50 บาท รถบัส สีน้ำเงิน พุนพิน-ตาขุน-พนม ราคาประมาณ 50 บาท

รถบัส หรือรถตู้ขนาดใหญ่ D4D ของบริษัททัวร์ ที่จะไป ภูเก็ต หรือ กระบี่ เที่ยวแรก 7.30น และมีมาทุกชั่วโมง ค่ารถบัส 280 บาท ถ้าเป็นรถตู้ 350 บาท
ราคามาตรฐาน เรือ รับส่ง นำเที่ยวในเขื่อนเชี่ยวหลาน

ราคามาตรฐาน เรือ รับส่ง นำเที่ยวในเขื่อนรัชชประภา

  • ไม่เกิน 10 คน ลำเล็ก มากกว่า 10 คนลำใหญ่ ที่นั่งได้ตั้งแต่ 11-20 คน
  • เรือที่นี่ไม่ได้ออกตามเวลา แต่จะออกตามลำดับคิวเรือแบบเรือเหมา ตั้งแต่ 08.00 น. ถึง 18.00 น. แต่ถ้ามาก่อนเวลาหรือหลังเวลาก็พอได้
  • เส้นทางปรกติที่เรือจะนำไป คือไปชมกุ้ยหลิน บริเวณหิน 3 เกลอ และอาจจะแวะที่แพนางไพรแป๊บนึง แล้วกลับมาที่ท่าเรือ ราคาลำละ 1500 บาท ไม่ต้องจอง ไปท่าเรือขึ้นเรือตามคิวออกได้เลย
  • เส้นทาง ไปถ้ำปะการัง นั่งเรือไปจุดลงเดิน เดินข้ามป่าไปประมาณ 1 กม. เพื่อไปยังทะเลใน (ทะเลสาบปิด) ขึ้นแพยนต์ เดินทางไปถ้ำปะการัง ส่วนตอนกลับ ก็จะแวะชมกุ้ยหลิน เขาหิน 3 เกลอ อันนี้จะแพงหน่อย เหมาทั้งหมดค่าเรือไปกลับประมาณ ลำละ 1800 + ค่าแพยนต์และค่าคนนำทาง 600 = 2400 บาท

  • กรณีอยากให้ทางเรือไปส่งที่แพที่พักแล้วอีก 2 วันให้ไปรับ แล้วให้คิดค่าเรือแค่เที่ยวเดียว
    อยากไปนอนแพโตนเตยสัก 2 คืน แล้วให้เรือตีกลับ พอนอนครบ 2 คืนให้เรือไปรับ จะเท่ากับว่าเรือวิ่งไปกลับ 2 เที่ยว แต่ว่าจะให้คิดค่าเรือแค่ ไปกลับเที่ยวเดียว คือ 2000 บาท หรือ 2500 บาท

    จากการสอบถามกับผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว แล้วสามารถทำได้แต่ผู้ประกอบการเรือไม่คุ้มทุนที่ต้องวิ่งเรือเปล่ากลับไป ยังท่าเรือแล้วกลับมารับที่แพ ทางผู้ประกอบการเรือจึงคิดค่าเรือเป็น 2 เที่ยว คือไปส่งที่แพโตนเตย 2000 บาท และวันไปรับกลับ อีก 2000 บาท

    ซึ่งถ้าให้เรือไปนอนทั้ง 2 คืน ราคาค่าเรือจะอยู่ที่ คืนแรก 2500 บาท คืนที่ 2 ถ้าไม่ไปไหน ก็อาจจะลดราคาค่าเรือให้ในคืนที่ 2 เหลือประมาณ 1000 - 1500 บาท รวมแล้วเสียค่าเรือประมาณ 3500 - 4000 บาท ซึ่งอาจจะถูกกว่าหรือเท่ากันกับให้เรือไปส่งแล้วค่อยไปรับกลับ และยังสามารถนั่งเรือไปเที่ยวตามจุดๆ มากมายภายในเขื่อน อีกอย่างถ้าเรือรออยู่เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้รับมาส่งที่ฝั่งได้ทันที

    ในกรณีที่คิดว่าอยากไปนอนสัก 5 คืน ถ้าให้ไปส่งแล้วค่อยไปรับในวันกลับ ค่าเรือจะคิดแค่ไปกลับ 2 เที่ยวซึ่งถูกกว่ามาก แต่ท่านจะไม่ได้ไปไหนเลย (นอนที่แพอย่างเดียว)

  • เวลามาตรฐานของเรือโดยสารระหว่างท่าเรือ ไปยัง แพ 500 ไร่ จะมีบริการ 2 รอบต่อวัน

    เที่ยวไป
    รอบแรก ออกจากท่าเทียบเรือ 07.30 น. ถึงท่า 500 ไร่ 09.00 น.
    รอบที่สอง ออกจากท่าเทียบเรือ 10.30 น. ถึงท่า 500 ไร่ 12.00 น.

    เที่ยวกลับ ออกจากท่า 500 ไร่ 09.30 น. ถึงท่าเทียบเรือ 11.00 น.

รู้ก่อนเดินทาง

  • ฤดูกาลที่เหมาะสม ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ก.ย. ยกเว้นในช่วงฤดูมรสุม เดือน ต.ค. ถึง ธ.ค.
  • ในเขื่อนรัชชประภา มีที่พักแบบเรือนแพของอุทยานฯ ของกรมป่าไม้ ของการไฟฟ้า และ ของเอกชนไว้บริการ
  • เวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 3 วัน 2 คืน น่าจะเที่ยวได้เกือบทั่วทุกแห่งหรือจะเผื่อเวลาอีกนิด เป็น 4 วัน 3 คืน ก็ดี
  • ถ้าไม่ใช่ช่วงฤดูหนาว อากาศร้อนถึงร้อนมาก ควรมีพัดลมเล็กๆติดตัวไปด้วย ไม่งันนอนไม่ได้แน่
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่อุทยานแห่งชาติเขาสกโทร. 077 395 139 หรือ 077 395 055

ที่พักเขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน

ที่พักในเขื่อนรัชชประภามีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ คือ

1. ที่พักของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( เขื่อนเชี่ยวหลาน) มีหลายลักษณะและหลายราคา ( ห้องแอร์ทั้งหมด ) เหมาะสำหรับครอบครัว ติดต่อขอรายละเอียดหรือจองที่พักได้ที่ โทร.077-242561
ภาพ บ้านพักต่างๆ ของการไฟฟ้าฯ

2. ที่พักแบบเรือนแพ ของทางอุทยานแห่งชาติเขาสก 
  •  แพนางไพร เป็นแพที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด และวิวหน้าแพสวยที่สุด โทร. 077-095025, 077-299318, 077-395139ภาพ แพนางไพร
  • แพคลองคะ อยู่ถัดจากแพนางไพรเข้าไป ใกล้กับน้ำตกคลองคะ โทร. 077-299078-9 ภาพ แพโตนเตย
  • แพโตนเตย เป็นแพที่อยู่ใกล้กับ ถ้ำน้ำทะลุ โทร. 077-395139 ภาพ แพโตนเตย
  • แพไกรสร เป็นแพที่อยู่ไกล และเป็นธรรมชาติ โทร. 077-395139 ประมาณค่าใช้จ่าย คนละ 560 บาทต่อคืนพร้อมอาหาร 3 มื้อ อยู่ไม่ครบมื้อก็หักไปตามมื้อ ค่าที่พัก 200 บาท ค่าอาหารเช้า 60 บาท เที่ยง 150 บาท เย็น 150 บาท

    ***จองที่พัก อุทยานแห่งชาติเขาสก แบบ online ได้ที่ http://www.dnp.go.th/
3. ที่พักแบบเรือนแพ ของกรมป่าไม้
แพหน่วยฯคลองหยา หรือ แพคลองแสง เป็นแพที่อยู่ไกลที่สุด เป็นแหล่งตกปลา โทร.คุณโอ 08-6593-3440 (ทางแพไม่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา) ประมาณค่าใช้จ่าย คนละ 700 บาทต่อคืนพร้อมอาหาร 3 มื้อ
ภาพ แพหน่วยฯคลองหยา หรือ แพคลองแสง

4. ที่พักแบบเรือนแพ ของทางเอกชน
     ประมาณค่าใช้จ่าย คนละ 560 บาทต่อคืนพร้อมอาหาร 3 มื้อ อยู่ไม่ครบมื้อก็หักไปตามมื้อ ค่าที่พัก 200 บาท ค่าอาหารเช้า 60 บาท เที่ยง 150 บาท เย็น 150 บาท ห้องพักจะพักได้ห้องละ 3-4 คน แล้วแต่ขนาดของห้อง บางแพ หากมาเป็นกลุ่มแต่ต้องการพักเพียง 2 คนสามารถจ่ายเพิ่มคนละ200 บาท จะได้พัก2 คนต่อห้องได้ (ต้องโทรสอบถาม) แพไพรวัลย์ ค่าใช้จ่ายหากมาหลายคนไม่แยกห้องคู่ วันละ 600 บาท/วัน พร้อมอาหาร 3 มื้อ fix ราคาโดยไม่หักค่าอาหารตามมื้อ หากต้องการแยกนอนห้องละ 2 คน ค่าพักคนละ 800 บาท/วัน (เฉพาะที่แยกห้อง)
 ( ที่มา Phudoilay.com )


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในอุทยานแห่งชาติเขาสก
    เพื่อ เปิดโอกาสให้สภาพ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว และเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติจึงมีกำหนดปิดการท่องเที่ยวประจำปี บริเวณ เส้นทางชมบัวผุด กิโลเมตรที่ 111 ปิดระหว่างวันที่ 1 พ.ค. - 31 ต.ค. ของทุกปี และบริเวณน้ำตกสิบเอ็ดชั้น น้ำตกบางเลียบน้ำ ตั้งน้ำ น้ำตกโตนกลอย น้ำตกธารสวรรค์ ถ้ำน้ำทะลุ ถ้ำสี่รู และถ้ำค้างคาว ปิดระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. - 14 ธ.ค. ของทุกปี
เดินป่าระยะไกล กม.99 - คลองแปะ ผจญภัยถ้ำน้ำทะลุ เริ่มต้นที่กิโลเมตร 99 ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ปลายทางที่คลองแปะ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ขส.4 แพโตนเตย ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา มีระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

ล่องแก่งภายในลำคลองศกบริเวณน้ำตกบางหัวแรด เป็นการท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงน้ำหลาก ระหว่างเดือนมิถุนายน - มกราคม โดยเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสกไปน้ำตกบางหัวแรดระยะทาง 3 กิโลเมตร แล้วลงเรือยาง ขนาด 8 คน ล่องแก่งจากน้ำตกบางหัวแรดลงมาภายในลำคลองศก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

เขื่อนรัชชประภา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็น เขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างปิดกั้นคลองพระแสง ตัวเขื่อนเป็นหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 95 เมตร ยาว 700 เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 100 เมตร อ่างเก็บน้ำครอบคลุมพื้นที่ 165 ตารางกิโลเมตร ภายในอ่างเก็บน้ำมีเกาะมากกว่า 100 เกาะ สามารถล่องเรือชมทัศนยภาพที่สวยงามมาก โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบเขากาเลาะ บนสันเขื่อนรัชชประภายังเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่งดงามของอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะยามดวงอาทิตย์ตก เขื่อนเชี่ยวหลานอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 65 กิโลเมตร ทางเข้าอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 57-58 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร

ตั้งน้ำ มีลักษณะเป็นภูเขา ที่ถูกน้ำกัดเซาะจนขาดออกจากกัน ทำให้กลายเป็นหน้าผาหันหน้าเข้าหากัน มีลำคลองศกไหลลอดผ่านเบื้องล่าง เป็นวังน้ำลึกมาก มีปลาชุกชุม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากน้ำตกวิ่งหินประมาณ 3.2 กิโลเมตร ต้องเดินทางโดยทางเท้าประมาณ 3.2 กิโลเมตร
   
ถ้ำค้างคาว เป็นถ้ำที่มีค้าง คาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะภายในถ้ำเป็นเหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม อยู่ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส. 4 (คลองแปะ) ประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 21 กิโลเมตร

ถ้ำน้ำทะลุ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำน้ำหลุ อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส. 4 (คลองแปะ) ประมาณ 3 กิโลเมตร ริมอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน โดยต้องนั่งเรือจากท่าเรือเขื่อนรัชชประภาไปประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเข้าไปตามคลองแปะอีกประมาณ 15 นาที แล้วเดินเท้าต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร จึงถึงถ้ำทะลุ ที่มีปากถ้ำกว้างใหญ่ถึง 30 เมตร ภายในกว้างขวางมีลำธารไหลผ่านตลอดความยาว 600 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย รวมทั้งโขดหินที่เกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำจนมีรูปทรงแปลกตา หรือสามารถเดินเท้าจาก กิโลเมตรที่ 99 เข้าไปถึงถ้ำน้ำทะลุประมาณ 12 กิโลเมตร

ถ้ำประกายเพชร ภายในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกมากมายที่รอให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม โดยเฉพาะถ้ำประกายเพชร เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีความสวยงามแปลกตา มีหินปะการัง หินงอก หินย้อย ทีมีเอกลักษณ์โดดเด่น ความยาวภายในถ้ำประมาณ 100 เมตร เหมาะสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมความงดงาม ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาสก ได้เข้าไปสำรวจความเหมาะสมและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวชม ปรากฏว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมอีก สถานที่หนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเทียวภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา และทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ประทับใจในการเข้ามา ท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ถ้ำสี่รู อยู่ห่างจากถ้ำน้ำ ทะลุประมาณ 2 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางเดียวกับถ้ำน้ำทะลุ สมัยก่อนเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยมีทางออกจากถ้ำ 4 ช่องทาง

น้ำตกโตนกลอย เป็นน้ำตกที่มีความ สวยงาม เกิดจากคลองศก ลักษณะน้ำตกเป็นน้ำตกชั้นเดียวดิ่งลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร มีน้ำไหลแรงตลอดปี มีลานหินสำหรับพักผ่อนอยู่บนชั้นน้ำตก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากตั้งน้ำ ประมาณ 1 กิโลเมตร

น้ำตกธารสวรรค์ เป็นน้ำตกที่เกิด จากลำห้วยบางพลูจืด ซึ่งไหลลงสู่คลองศก เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง น้ำตกลงมาจากหน้าผาชันพุ่งโค้งแบบรุ้งกินน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากตั้งน้ำ ประมาณ 1 กิโลเมตร

น้ำตกบางเลียบน้ำ เกิดจากลำคลองศก เป็นน้ำตกชั้นเดียว น้ำไหลตลอดปี ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 4.5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนนใหญ่กิโลเมตรที่ 112 ประมาณ 8 กิโลเมตร

น้ำตกบางหัวแรด เป็นน้ำตกที่มีขนาด ใหญ่และสวยงาม มีน้ำไหลแรงมาจากคลองศก เป็นน้ำตก 2 ชั้น ชั้นแรกไหลจากบางหัวแรดแล้วไหลลงคลองศก ชั้นที่สองอยู่ในคลองศก บริเวณโดยรอบน้ำตกกว้างขวางมาก เต็มไปด้วยหินเรียงรายตามธรรมชาติสวยงามแปลกตามาก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 3 กิโลเมตร

น้ำตกแม่ยาย เป็นน้ำตกเพียงแห่ง เดียวภายในอุทยานแห่งชาติที่รถยนต์ไปถึงได้ อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี – ตะกั่วป่า) ตรงกิโลเมตร 113 เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูงประมาณ 30 เมตร สวยงามมาก โดยเฉพาะฤดูฝนน้ำจะเต็มหน้าผาที่สูงชันกระจัดกระจายแตกฟองขาวโพลน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 5.5 กิโลเมตร

น้ำตกวิ่งหิน เป็นน้ำตกที่อยู่ ใกล้น้ำตกบางหัวแรด ห่างเพียง 120 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สูงประมาณ 15 เมตร ที่น้ำไหลลงมารวมกับคลองศกที่บริเวณหัวแรด และในคลองศก ด้านล่างของน้ำตกลงมาประมาณ 20 เมตร จะมีก้อนหินก้อนโตๆ วางเรียงรายกันอยู่ในลำคลองเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถที่จะเดินข้ามลำคลองโดยเดินข้ามไปบนก้อนหินได้ จุดนี้เรียกว่า “น้ำตกบางวิ่งหิน” เป็นจุดที่มองดูสวยงามอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 2.8 กิโลเมตร รถยนต์สามารถไปถึงได้ เหนือน้ำตกขึ้นไปประมาณ 40 เมตร จะมีที่สำหรับว่ายน้ำเรียกว่า “วังยาว” เป็นวังที่กว้างและยาว สามารถเล่นน้ำพร้อมกันได้ไม่ต่ำกว่า 500 คน

น้ำตกสิบเอ็ดชั้น เป็นน้ำตกที่เกิด จากน้ำในคลองบางแลน ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันมาตามร่องหน้าผา เป็นรูปขั้นบันได 11 ชั้น แต่ละชั้นสูงประมาณ 10 เมตร และห่างกันประมาณ 70 เมตร มีน้ำไหลตลอดปีไม่ขาดสาย ชั้นล่างสวยงามมากที่สุด มีแอ่งน้ำกว้างให้เล่นน้ำ และมีโขดหินวางเรียงรายอยู่ทั่วไปเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 4 กิโลเมตร ต้องเดินทางโดยทางเท้า

บัวผุด พืชมหัศจรรย์แห่งเทือกเขาสก ในบรรดาพืชพรรณทั้ง หมดที่มีอยู่ในโลก บัวผุดหรือ Rafflesia ถือว่าเป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะบัวผุดชนิด Rafflesia arnoldii ที่สำรวจพบในอินโดนีเซียนั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 100 เซนติเมตร ส่วนบัวผุดพันธุ์ไทย หรือ Fafflesia kerrii มีดอกขนาดเล็กกว่า แต่ก็ยังคงมโหฬารไม่ใช่เล่น คือ 50-90 เซนติเมตร ยามที่มันออกดอกสีปูนแดงสดใสอย่กลางป่าดิบเขียวชอุ่มนั้น ถือเป็นภาพที่น่าตื่นตามาก

บัวผุดหรือที่ชาวบ้านทางภาคใต้ของไทย เรียกว่า "บัวตูม" จริง ๆแล้วเป็นพืชกาฝากซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยอาศัยอยู่ในรากและลำต้นของเถาไม้ เลื้อยวงศ์อง่นป่า ชื่อ "ย่านไก่ต้ม" โดยบัวผุดจะอาศัยดูดกินแร่ธาตุและน้ำจากย่านไก่ต้ม โดยต้นแม่ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ พวกเราจะเห็นบัวผุดได้ก็เฉพาะยามเมื่อมันต้องการผสมพันธุ์กัน คือ จะเริ่มมีตาดอกเป็นปุ่มกลมเล็กๆ โตขึ้นที่ผิวของย่านไก่ต้ม แล้วใช้เวลา 9 เดือน ขยายขนาดจนเท่ากับหัวกะหล่ำยักษ์ จากนั้นก็ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ในรอบปีให้ดอกบาน ทว่าดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันอยู่ จึงต้องเหมาะเหม็งมากในช่วงเวลาบานแมลงวันจึงจะช่วยผสมเกสรให้ได้ จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการสูญพันธุ์

ชาวป่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทย มีความเชื่อว่าดอกตูมของบัวผุด ถ้านำมาต้มให้หญิงหลังคลอดบุตรดื่ม มดลูกจะเข้าอู่เร็วขึ้น ซึ่งได้มีการพิสุจน์ทางการแพทย์แล้วว่า ไม่มีสรรพคุณดังกล่าวแต่อย่างใด ในเมืองไทยจะพบบัวผุดได้ตั้งแต่คอคอดกระ จังหวัดระนอง เรื่อยลงไปตามแนวเทือกเขาภูเก็ต จนสุดชายแดนที่นราธิวาส โดยอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งชมบัวผุดแหล่งใหญ่ที่สุด มีบัวผุดทยอยบานให้ชมทั้งปี แต่เป็นที่นิยมไปชมกันมากในฤดูแล้งช่วงเดือนพฤศจิกายน- เมษายน เพราะดินป่าง่าย แต่เขาสกก็ได้ผ่านบทเรียนอันเจ็บปวดมาแล้วจากอดีตในการสูญเสียบัวผุดที่ควน ลูกช้าง เพราะในอดีตยังขาดความเข้าใจในชีวิตอันเปราะบางของมัน จึงมีผู้แห่กันไปชมบัวผุด โดยมีการเหยียบย่ำเถาย่านไก่ต้ม เหยียบย่ำดอกอ่อน และเหยียบย่ำตาดอกขนาดเล็กที่เพิ่งผุดขึ้นมา (โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์) ทั้งนี้เพื่อเข้าไปชมและถ่ายรูปกับดอกบัวผุดให้ใกล้ชิดที่สุด ส่งผลให้บัวผุดสาบสูญไปจากควนลูกช้าง แม้ปัจจุบันบัวผุดบริเวณกิโลเมตรที่ 111 และที่เขาสองน้อง ก็มีจำนวนดอกลดน้อยลง และขนาดดอกในรอบ 2 ปี (พ.ศ. 2545-2546) ที่ผ่านมาก็เล็กลงจนน่าตกใจทีเดียว

อุทยานแห่งชาติเขาสก และทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เล็งเห็นความเร่งด่วนของสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ออกมาตรการป้องกันรักษาดอกบัวผุด โดยออกสำรวจ เมื่อพบดอกใกล้บานจะทำการล้อมรั้ว ติดป้ายห้ามเข้าใกล้ดอก และสร้างสะพานไม้ยกระดับให้ยืนชมดอกอยู่ห่าง ๆ บนสะพานไม้ ไม่ให้มีการลงไปเหยียบย่ำพื้นดินหรือเถาย่านไก่ต้มอีกต่อไป นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นไกด์ท้องถิ่นพานักท่องเที่ยวเข้าชมบัว ผุด เพื่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนอันจะนำมาซึ่งความรัก ความเข้าใจ ความหวงแหน และการอนุรักษ์แหล่งชมดอกบัวผุดได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
    
เส้นทางศึกษา ธรรมชาติ “สันยางร้อย” เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบชื้น ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางขึ้นและลงเขาผ่านลำห้วยและผืนป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ ผืนป่าแน่นทึบไปด้วยพืชพรรณทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น เฟิน หวาย เต่าร้าง ยางเสียน กระบาก ฯลฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง จุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติอยู่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

แผนที่และข้อมูลเพื่อการเดินทาง

อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี


     ( ที่มา holidaythai.com )